Boccia Training Center ตอบโจทย์การใช้งานได้มากกว่าเดิมด้วย Universal Design และโครงสร้างเหล็ก
Boccia Training Center อาคารฝึกซ้อมและที่พักสำหรับนักกีฬาผู้พิการ ที่ถูกก่อสร้างบนพื้นที่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นโครงการก่อสร้างที่ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้นเพื่อให้นักกีฬาผู้พิการสามารถใช้งาน ใช้ชีวิตและฝึกซ้อมได้อย่างสะดวกที่สุด การออกแบบจึงต้องยึดหลัก Universal Design เพื่อให้ระยะ พื้นที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ สอดคล้องกับการใช้งานของนักกีฬาเป็นสำคัญ
โดยเฉพาะส่วนของทางลาดที่ถูกตั้งโดดเด่นอยู่กลางอาคารและส่วนของอาคารฝึกซ้อมที่กว้างและไม่มีเสามาคั่นกลางพื้นที่ ซึ่งทั้งสองจุดนี้ได้เลือกใช้เหล็กโครงสร้าง H-BEAM จาก SYS ที่ตอบโจทย์ได้ครบทั้งด้านความแข็งแรงที่มากกว่า ขนาดที่เล็กกว่าและรองรับการดีไซน์ได้ดีกว่า ทำให้ Boccia Training Center แห่งใหม่นี้ถูกออกแบบและก่อสร้าง จนกลายเป็นพื้นที่ที่นักกีฬาผู้พิการสามารถใช้งานได้อย่างมีคุณภาพในทุกมิติของชีวิต
Boccia Training Center พื้นที่สำหรับผู้พิการอย่างแท้จริง
กีฬาบอคเซียถือเป็นหนึ่งกีฬาสำคัญที่ทัพนักกีฬาผู้พิการของไทยสามารถรักษาตำแหน่งมือหนึ่งของโลกและคว้าเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์มาได้ถึง 3 สมัย ความเข้มข้นของการฝึกซ้อมและแข่งขันจึงมีไม่น้อยไปกว่ากีฬาชนิดอื่น ๆ แต่ด้วยการฝึกซ้อมและเก็บตัวก่อนการแข่งขันทุกครั้ง นักกีฬาต้องเดินทางไปที่สนามซ้อมที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งการเดินทางไปกลับดูไม่ค่อยสะดวกนักสำหรับนักกีฬาที่เป็นผู้พิการ จึงดีกว่าหากมีพื้นที่ที่สามารถรองรับการใช้งานและฝึกซ้อมได้อย่างครบครันในเมืองที่สามารถเดินทางได้สะดวกกว่า
จึงเกิดเป็นโครงการ CSR ที่ได้รับความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย จัดสร้างอาคารศูนย์ฝึกกีฬาบอคเซียแห่งชาติขึ้น ภายในพื้นที่ว่างในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาใกล้ ๆ กับราชมังคลากีฬาสถาน โดยได้รับการออกแบบจากคุณเมธพร วิสิฐพงศ์พันธ์และคุณสุวิจักขณ์ ยตินันท์กุล สถาปนิกจากบริษัท pbm จำกัด ที่ได้รังสรรค์ให้เป็นอาคารที่ถ่ายทอดความเป็น Universal Design ที่นำเสนอตัวตนและการใช้ชีวิตของผู้พิการเป็นสำคัญ
ลบข้อจำกัดด้วยการออกแบบ ให้ใช้งานทุกพื้นที่ได้อย่างลื่นไหลและมีประสิทธิภาพที่สุด
ในตัวอาคารมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนของสนามฝึกซ้อม 4 สนาม ที่เป็น Double Space สูง 2 ชั้น ส่วนของออฟฟิศบริเวณชั้นลอยเชื่อมกับสนามฝึกซ้อมและส่วนของห้องพักด้านบนสุดของอาคาร แต่จากที่ตั้งโครงการนั้นที่มีอยู่อย่างจำกัด บวกกับขนาดและจำนวนของฟังก์ชันต่าง ๆ ที่ต้องการพื้นที่ใช้สอยประมาณ 2,000 – 2,200 ตารางเมตร ดังนั้นเมื่อออกแบบจัดวางลงไปแล้วก็เกือบเต็มพื้นที่พอดี ตัวอาคารจึงมีลูกเล่นที่หวือหวามากไม่ได้ ทางสถาปนิกจึงได้หยิบเอาคอนเซปต์ของความลื่นไหลมาใช้กับพื้นที่ภายในอาคารและ Façade แทน เพื่อสร้างลูกเล่นแปลกใหม่และสร้างจุดเด่นด้านดีไซน์ให้กับอาคาร
คุณเมธ เมธพร วิสิฐพงศ์พันธ์ สถาปนิกผู้ออกแบบ Boccia Training Center แห่งนี้ได้เล่าถึงความเป็นมาของดีไซน์ Façade ว่า เป็นความตั้งใจที่อยากดีไซนให้รูปด้านของอาคารที่ถูกจำกัดให้เป็นกล่องมีความน่าสนใจขึ้น โดยออกแบบให้เป็นรูปร่างเรขาคณิตหลากหลายองศาเพื่อตัวแทนเส้นสายจากล้อวีลแชร์ของนักกีฬา นอกจากความสวยงามยังออกแบบให้ Façade นี้ทำหน้าที่พรางงานระบบรอบ ๆ อาคารและช่วยกรองแสงกรองลมธรรมชาติให้เข้าไปด้านในผ่านแผ่นอลูมิเนียมเจาะรูที่ทำมุมแตกต่างกัน แสงเงาและการตกกระทบจึงสร้างมิติให้กับอาคารได้มากขึ้น
และอีกหนึ่งส่วนที่ถูกหยิบให้กลายเป็นจุดเด่นของอาคารคือ ทางลาดโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ตามอัตราส่วนความสูง 1 เมตรต่อความยาว 12 เมตร (1:12) ที่เชื่อมพื้นที่ทุกชั้นของอาคารเข้าด้วยกันและถูกผลักดันให้เป็นเส้นทางสัญจรหลักของอาคาร ให้นักกีฬาผู้พิการที่เป็นผู้ใช้งานหลักรวมไปถึงทีมงานและทุก ๆ คนสามารถเข้าถึงและใช้งานทุกส่วนของอาคารได้สะดวกที่สุด
โครงสร้างเหล็ก H-BEAM พร้อมสำหรับการใช้งานในรูปแบบที่แตกต่าง
ด้วยความต้องการที่อยากให้โครงการแล้วเสร็จและเปิดใช้งานอย่างเร็วที่สุด ทางสถาปนิกและทีมงานจึงได้เลือกใช้เหล็กโครงสร้าง H-BEAM ร่วมกับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กแบบสำเร็จรูปเพื่อให้งานก่อสร้างเสร็จทันตามที่วางแผนเอาไว้ โดยเหล็กโครงสร้าง H-BEAM จาก SYS ที่ยืดหยุ่นต่อการใช้งานนี้ได้ถูกนำมาใช้ในหลายส่วนและใช้ในหลายรูปแบบแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงถักของสนามฝึกซ้อม โครงสร้างของทางลาดอาคารและโครงสร้างของ Façade อาคาร
ส่วนสนามฝึกซ้อมมีความกว้างประมาณ 16 เมตร สูง 6 เมตร ต้องการให้เป็นพื้นที่กว้าง โล่งและไม่มีเสากลางในพื้นที่เพื่อให้การสัญจรและฝึกซ้อมทำได้เต็มที่ ทางโครงการจึงออกแบบโครงสร้างรับพื้นชั้นบนเป็นโครงถัก (Truss) จากเหล็ก H-BEAM เกรด SM520 เพื่อทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของสนามฝึกซ้อม และติดตั้งแบบโชว์โครงสร้าง ซึ่งเหล็กโครงสร้าง H-BEAM นี้ก็ตอบโจทย์ทั้งด้านความแข็งแรงและความเพรียวบางได้เป็นอย่างดี โดยมีความลึกของโครงถักที่ประมาณ 1.80 เมตรเท่านั้น ความสูงของสนามฝึกซ้อมจึงยังเหลือเกือบ 4 เมตร ให้พื้นที่ภายในคงความโปร่งโล่งและถ่ายเทเอาไว้ ได้
ในส่วนของทางลาดอาคาร เป็นส่วนสัญจรหลัก แต่ด้วยรูปแบบนั้นมีความซับซ้อน การใช้โครงสร้างเหล็ก H-BEAM มาเป็นโครงสร้างทั้งส่วนเสาและคานรับทางลาด จึงช่วยให้ขนาดของทางลาดดูเบาและบางลงได้มาก แม้จะต่อเนื่องกันถึง 3 ชั้น และโครงสร้าง Façade ของอาคารที่ถือว่าเป็นจุดใหญ่จุดหนึ่ง การติดตั้งด้วยโครงสร้างเหล็ก H-BEAM ก็ได้ทำหน้าที่พยุงและรับน้ำหนักของ Façade โดยรอบอาคารได้อย่างมั่นคงแข็งแรง
เพิ่มข้อได้เปรียบให้งานก่อสร้าง ด้วยโครงสร้างเหล็ก H-BEAM
แม้ว่าพื้นที่ตั้งของ Boccia Training Center จะไม่ได้มีปัญหามากนัก เพราะยังมีที่ว่างรอบ ๆ ที่เพียงพอต่อการก่อสร้าง แต่การเลือกใช้เหล็กโครงสร้าง H-BEAM ก็เป็นข้อได้เปรียบที่ช่วยเสริมให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ได้มากขึ้น ซึ่งข้อได้เปรียบหรือข้อดีอันดับหนึ่งของการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กในโครงการนี้ คือ ความรวดเร็วในการก่อสร้างและติดตั้ง โดยเฉพาะส่วนของโครงถักเหล็ก H-BEAM ที่คุณเมธได้เล่าว่าออกแบบและประกอบชิ้นส่วนโครงถัก 5 ชิ้นในโรงงาน โดยใช้เวลาประกอบชิ้นละ 2 อาทิตย์เท่านั้น ก่อนยกมาประกอบที่หน้างานได้ทันที งานจึงเร็วและควบคุมได้ง่าย
และยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องความบาง เพรียวของวัสดุ ที่ช่วยขับให้โครงสร้างไม่ว่าจะเป็นเสาคานของทางลาด โครงถักของสนามฝึกซ้อมหรือแม้แต่โครงรับ Façade มีขนาดเล็กลงได้ ทำให้อาคารขนาดกว่า 2,000 ตารางเมตรนี้ดูโปร่งได้ตามดีไซน์ที่ต้องการ ทั้งยังมีความสวยงามในตัววัสดุ สามารถเปิดโชว์โครงสร้างเหล็ก H-BEAM ได้ทั้งหมด อาคารจึงดูสวยและทันสมัยมากขึ้นอีก
ในท้ายที่สุดคุณเมธ เมธพร วิสิฐพงศ์พันธ์ สถาปนิกผู้ออกแบบ Boccia Training Center แห่งนี้ ได้เล่าถึงความประทับใจในการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการและการได้รับรางวัล The International Property Award ในประเภทอาคารสันทนาการ ว่า ดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้เกิดพื้นที่ดี ๆ แบบนี้ขึ้นมาในประเทศไทย และถือเป็นก้าวสำคัญที่ Universal Design จะถูกนำมาใช้และพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างอาคารมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เป็นส่วนเสริมในอาคาร เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าใช้งานทุกพื้นที่ในอาคารได้อย่างมีคุณภาพและเท่าเทียมกัน