จากตึกแถวเก่าย่านกลางเมือง สู่ Creative Office Building สำหรับ Start – Up รุ่นใหม่ ในดีไซน์และโทนสีสะดุดตา
พื้นที่ว่างจุดหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจมาก่อน และได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นอาคารสำนักงานในฟอร์มเรียบง่าย แต่มีดีเทลและสีสัน ดีไซน์ทันสมัยเข้ากับการใช้งานของคนรุ่นใหม่เท่านั้น ภายในอาคารยังมีการวางฟังก์ชันต่าง ๆ ให้เหมาะกับการทำงานของกลุ่มผู้ใช้งานนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ Co – Working Space คาเฟ่หรือร้านอาหาร
ด้วยโจทย์ของอาคารที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานในระยะเวลา 10 – 15 ปี ที่เป็นช่องว่างเพื่อรอการพัฒนาในอนาคต การก่อสร้าง ฟอร์มอาคาร รวมถึงวัสดุต่าง ๆ จึงต้องง่ายต่อการรื้อถอนและเกิดเศษเหลือทิ้งน้อยที่สุด หนึ่งในวัสดุที่ทางสถาปนิกเลือกมาใช้งานคือ เหล็กโครงสร้าง H-BEAM จาก SYS ที่ถูกนำมาใช้ใน
ส่วนของสะพานเชื่อมระหว่าง 2 อาคารและโครงสร้างหลังคา ซึ่งการใช้เหล็กโครงสร้าง H-BEAM นี้ สามารถตอบโจทย์การทำงานของทั้งฝั่งสถาปนิกและผู้รับเหมาได้ครบถ้วน
ในฝั่งสถาปนิก เหล็ก H-BEAM ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น รวมถึงมีดีไซน์ที่บางและเบา เพื่อให้พื้นที่ปลอดโปร่งไม่ทึบตัน ทั้งยังช่วยจบงานออกแบบในทุกที่มีช่วงพาดยาว ๆ หรือมีการยื่นมาก ๆ ได้อย่างแข็งแรง
ในขณะที่ฝั่งของผู้รับเหมา เลือกใช้เหล็ก H-BEAM ที่มีการตัดความยาวเหล็กตามระยะของแบบก่อสร้างพร้อมทั้งมีการทำสีกันสนิมอย่างมีมาตรฐานทุกขั้นตอนโดยทีม Steel Solution by SYS ทำให้มั่นใจว่าเหล็กทุกท่อนพร้อมสำหรับการเชื่อมประกอบที่หน้างานและช่วยให้การก่อสร้างดำเนินการได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ด้วยความสอดคล้องและตอบโจทย์อย่างรอบด้านของเหล็กโครงสร้าง H-BEAM จาก SYS จึงทำให้การก่อสร้าง BLOCK28X เป็นไปได้อย่างราบรื่น ลดความยุ่งยากที่ต้องจัดการที่หน้างานและช่วยให้อาคารมีความพร้อมให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาใช้งานในระยะเวลาเพียง 8 เดือนเท่านั้น
BLOCK28X ช่องว่างเวลา กับการพัฒนาให้พื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุด
เดิมทีพื้นที่หนึ่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นตึกแถวเก่าที่เริ่มหมดสัญญาในการใช้งานไป ซึ่งสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ได้มีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้กลายเป็นอาคารที่ใช้สอยได้ในหลาย ๆ ฟังก์ชัน เช่น อาคารสำนักงาน Mixed – Use หรือหอประชุม ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ก่อนที่การพัฒนาที่วางแผนเอาไว้จะมาถึง มีช่องว่างเวลาอยู่ประมาณ 10 – 15 ปี โดยพื้นที่จุดนี้สามารถปรับหรือก่อสร้างเป็นอาคารอื่น ๆ ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยแทนการปล่อยทิ้งร้าง ซึ่งทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ก็ได้ตัดสินใจให้คุณประดิชญา สิงหราช สถาปนิกจากบริษัท IDeA (Innovative Design & Architecture Co., Ltd.) เข้ามาดูแลการออกแบบ และได้บริษัท โอเบ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เข้ามาดูแลการก่อสร้างโครงการแห่งนี้ จนกลายเป็น BLOCK28X อาคารสำนักงานสำหรับรองรับบริษัทหรือ Start – Up ของคนรุ่นใหม่ในสายงานครีเอทีฟ ที่ใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพียง 8 เดือน
Office Building ที่สื่อสารความสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ผ่าน Space สีสันและฟังก์ชันการใช้งาน
คอนเซปต์ในการออกแบบนอกจากจะจัด Circulation หรือทางสัญจร Floor to Ceiling และพื้นที่ใช้สอยในอาคารให้เปิดประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว ทางสถาปนิกยังเน้นให้เกิดบรรยากาศของความสดชื่น สดใหม่ โดยการใช้สีแดงเข้ามาเป็นสีหลักของอาคาร เพื่อเปลี่ยนให้อาคารสำนักงานธรรมดาที่มักจะมีโทนสีกลาง ๆ อย่างขาวหรือเทา กลายเป็น อาคารสำนักงานที่สดใส แสดงตัวตนของการเป็น Workspace ของ Creative Start – Up ออกมาได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีการวางฟังก์ชันอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์การทำงานของคนรุ่นใหม่เข้าไปเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้งานเลือกใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น
อาคารเป็นอาคาร 2 หลัง เชื่อมกันด้วยสะพานเชื่อมโครงสร้างเหล็ก H-BEAM มีทั้งหมด 4 ชั้น ชั้น 1 เป็น Common Space เป็นโซน Facilities ต่าง ๆ เช่น คาเฟ่ หรือที่นั่งเล่น ให้ผู้ใช้งานมานั่งทำงาน พูดคุยกันได้อย่างอิสระ ส่วนชั้น 2 – 4 เป็น Office ให้เช่า โดยแบ่งเป็น Module ที่มีขนาดประมาณ 100 ตร.ม. สามารถเปิดพื้นที่เพื่อเชื่อมต่อกันเป็น Office ขนาดใหญ่ขึ้นได้
ด้วยตัวอาคารตั้งอยู่ในตำแหน่งสถานีตำรวจเดิม ด้านข้างมีแฟลตตำรวจตั้งอยู่ใกล้ ๆ ด้านหน้าของอาคารติดกับถนนในทิศตะวันออก และด้านหลังหันไปทางทิศตะวันตก สถาปนิกจึงเลือกที่จะแบ่งอาคารออกเป็น 2 หลัง โดยให้ทางเดิน ห้องน้ำหรือส่วน Service อยู่รวมกันในอาคารหลังเล็ก และวางไว้ในทิศตะวันตกเพื่อลดมุมมองจากแฟลตตำรวจและช่วยกันแดดตอนบ่ายให้กับอาคารหลังใหญ่ อาคาร Office จึงเปิดโล่งรับวิวและแสงได้รอบด้าน
นอกจากสีแดงจะเป็นจุดเด่นแล้ว Façade ของอาคารยังเลือกใช้เป็นบล็อกช่องลมมาติดตั้งโดยรอบด้วย ซึ่งทำหน้าที่เป็น Double Skin ที่ช่วยกรองแสงและลม รวมถึงลดความร้อนที่เข้ามาในอาคาร ทำให้ผนังกระจกด้านในไม่ต้องใช้เป็นกระจกกันความร้อนที่มีราคาแพง
คอนกรีตและเหล็ก H-BEAM โครงสร้างแบบผสมผสานที่ตอบโจทย์ได้ครบทุกด้าน
BLOCK28X ใช้โครงสร้างคอนกรีต ผสมผสานกับ โครงสร้างเหล็ก H-BEAM จาก SYS โดยจะใช้โครงสร้างเหล็ก H-BEAM ในจุดที่ต้องการให้มีดีไซน์ที่เบา บาง ไม่เทอะทะ หรือในจุดที่มีช่วงพาดกว้าง ๆ เช่น สะพานเชื่อมระหว่างอาคาร 2 หลัง หรือโครงสร้างหลังคา
ซึ่งการเลือกใช้โครงสร้างแบบผสมผสาน 2 รูปแบบนี้ ช่วยตอบโจทย์การก่อสร้างในด้านงบประมาณได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การใช้วัสดุที่หลากหลายและมีคุณสมบัติที่โดดเด่นต่างกันในแต่ละจุดของอาคาร ก็ช่วยให้โครงสร้างมีความแข็งแรงเหมาะกับการใช้งานด้วย เช่น การเลือกใช้โครงสร้างคอนกรีตที่ประหยัด ทั้งยังให้ฟอร์มของอาคารดูโมเดิร์น มีกลิ่นอายลอฟต์เล็กน้อย
หรือการใช้เหล็ก H-BEAM พาดเป็นสะพานเชื่อม ที่ช่วยลดการสั่นสะเทือนหรือช่วยให้สะพานดูโปร่งโล่งได้มากขึ้น
อีกส่วนที่มีการวางแผนและออกแบบเป็นโครงสร้างเหล็กก็คือหลังคาโครง Truss ที่มีการวางทางเดินสำหรับให้ช่างขึ้นไปบำรุงรักษาด้านบน
คุณประดิชญา ได้แชร์ไอเดียว่า ในการออกแบบอาคารสำนักงาน การสร้างพื้นที่ขึ้นมา จำเป็นที่จะต้องทำให้ผู้ใช้งานได้รับสิ่งที่ดีที่สุด เช่น การได้รับแสงธรรมชาติอย่างทั่วถึง การมีพื้นที่ Creative Space ที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ในการทำงาน ความสูงของเพดานที่ควรจะสูง 2.8 – 3.0 ม. เพื่อให้รู้สึกปลอดโปร่ง หรือการวาง Circulation ให้น้อยที่สุด เพื่อให้ได้พื้นที่ใช้งานมากที่สุด
Steel Solution by SYS ผู้ช่วยที่จัดการโครงสร้างเหล็ก ให้ BLOCK28X ทำงานง่ายขึ้น
ในพาร์ทการก่อสร้างได้ทางบริษัท โอเบ เอ็นจิเนียร์ริง จำกัด เข้ามาควบคุมดูแลให้ ซึ่งทางคุณไพโรจน์ ปีตาภา เจ้าของบริษัท โอเบ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้เล่าว่า พื้นที่หน้างานนั้นตั้งอยู่ในเขตเมืองที่แออัด มีพื้นที่จำกัด แต่ด้วยเป็นถนนของทางจุฬาฯ เองจึงไม่ได้มีปัญหามากนัก แต่ถึงอย่างนั้นในฐานะของการเป็นผู้รับเหมาที่ต้องควบคุมงานก่อสร้างให้เสร็จอย่างมีคุณภาพและตรงตามเวลา จึงจำเป็นที่จะต้องวางแผนการก่อสร้างให้รัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นที่หน้างาน
ซึ่งหนึ่งในการป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นและช่วยให้งาน Flow ได้เป็นอย่างดีเลย ก็คือ การเลือกใช้เหล็ก H-BEAM ที่เตรียมการชิ้นส่วนโดย Steel Solution by SYS มาเป็นโครงสร้างบางส่วนของอาคาร BLOCK28X นี้
ประโยชน์ในด้านการก่อสร้างที่ได้รับจากการเลือกใช้เหล็ก H-BEAM ที่เตรียมการโดยทีม Steel Solution by SYS คือ ทำให้การก่อสร้างดำเนินการได้รวดเร็วและสะดวกมากขึ้น เพราะสามารถก่อสร้างโครงสร้างคอนกรีตที่หน้างานได้ในระหว่างที่ชิ้นส่วนเหล็กถูกเตรียมอยู่ในโรงงาน เมื่อเหล็กมาถึงหน้างานก็สามารถเชื่อมประกอบระหว่างชิ้นส่วนเหล็กได้อย่างสำเร็จราบรื่น
และเนื่องจากชิ้นส่วนเหล็กที่นำมาใช้ต้องมีขนาดและระยะตรงตาม Spec งานออกแบบ การที่มีผู้เชี่ยวชาญและมั่นใจในมาตรฐานได้อย่าง Steel Solution by SYS เข้ามาช่วยดูแลโครงสร้างเหล็ก ทำให้หมดกังวลเรื่องระยะหรือขนาดชิ้นส่วนเหล็กไปได้ งานติดตั้งโครงสร้างเหล็กใน BLOCK28X จึงแม่นยำมาก ภาพรวมในทุกส่วนของอาคาร BLOCK28X จึงออกมาได้ตามที่ทั้งสถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมาและเจ้าของโครงการต้องการ ในเวลาที่วางแผนเอาไว้ได้
คุณไพโรจน์ ยังได้ให้ไอเดียอีกว่า ในมุมของผู้รับเหมานอกจากจะต้องคุมงานก่อสร้างแล้ว ยังต้องประเมินความเป็นไปได้และความคุ้มค่าให้กับเจ้าของโครงการ รวมถึงวางแผนป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น วัสดุไม่พอหรือวัสดุไม่สามารถยกขึ้นติดตั้งที่หน้างานด้วย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นหมายถึงเวลาก่อสร้างที่นานขึ้น และอาจหมายถึงงบประมาณที่มากขึ้น ดังนั้นหากเราสามารถบริหารและวางแผนป้องกันทั้งหมดนี้ได้อย่างทันท่วงที ก็จะทำให้การก่อสร้างนั้นเสร็จลุล่วงตามที่ต้องการในเวลาที่กำหนดได้