“SYS” เหล็กไทยหัวใจกรีน พระเอกงานโครงสร้างหลังคา ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” โฉมใหม่
เปิดให้บริการเรียบร้อยแล้ว กับโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โฉมใหม่ ยิ่งใหญ่อลังการกว่าเดิม พร้อมรองรับการจัดงานในทุกรูปแบบ ซึ่งนอกจากเบื้องหน้าที่ต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆแล้ว เบื้องหลังของความสำเร็จที่ทำให้โครงการระดับประเทศแห่งนี้ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีตามโจทย์ของทางเจ้าของโครงการ และสามารถเปิดดำเนินการได้ตามกำหนดนั้น มาจากความร่วมมือของบริษัทชั้นนำของประเทศ ทั้งบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเจ้าของโครงการ บริษัท เบคา (ไทยแลนด์) จำกัด ในฐานะผู้ออกแบบ บริษัท นันทวัน จำกัด หรือ Thai Obayashi ในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้าง และ บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ในฐานะผู้ผลิตเหล็กโครงสร้าง คุณภาพสูงของไทย ที่ช่วยให้โครงการสำเร็จได้ตามกำหนดเวลา
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โฉมใหม่ มีพื้นที่ของอาคารที่ใหญ่กว่าเดิมถึง 5 เท่า โดยโถงกลางของอาคารมีดีไซน์ทันสมัยไร้เสากลาง ซึ่งไม่เพียงชูความสวยงามให้โดดเด่น แต่ยังสามารถปรับใช้พื้นที่ให้รองรับการจัดงานได้หลากหลายรูปแบบ ดังนั้น โครงสร้างหลังคาจึงมีบทบาทสำคัญ ไม่เพียงแต่มีความแข็งแกร่งทนทานแต่ต้องออกแบบพิเศษให้มีขนาดที่เหมาะสม เพื่อให้ความสูงของอาคารเป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมาย นั่นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้ เจ้าของโครงการ ผู้รับเหมาก่อสร้าง และ บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด หรือ SYS ในฐานะผู้ผลิตเหล็กโครงสร้าง ต้องร่วมกันหาโซลูชันที่ดีที่สุดสำหรับการก่อสร้างให้สำเร็จได้ตามโจทย์ และทำให้โครงการแล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด
นายวิทวัส คุตตะเทพ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายโครงการเชิงพาณิชยกรรม บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเจ้าของโครงการ กล่าวว่า “โจทย์ของการปรับโฉมศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์คือ การเพิ่มศักยภาพของศูนย์ฯ ให้สามารถรองรับการจัดงานประชุมและอีเว้นท์ระดับเวิลด์คลาสได้ทุกรูปแบบ ด้วยพื้นที่เกือบ 300,000 ตร.ม. มีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึง 5 เท่า ซึ่งเราต้องการให้โครงการนี้เป็นต้นแบบในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของศูนย์การประชุมในประเทศไทยต่อไป อีกทั้งยังให้ความสำคัญด้านคุณภาพและความปลอดภัยในการพัฒนาโครงการ รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การรองรับการเป็นอาคารสีเขียว”
จากโจทย์ที่กำหนดมา ทำให้ผู้ออกแบบอย่าง บริษัท เบคา (ไทยแลนด์) จำกัด ต้องทำงานอย่างหนัก เพราะนอกจากขนาดของตัวอาคารแล้ว ยังต้องคำนึงถึงข้อกำหนดทางกฎหมายด้วย “โจทย์ที่ได้รับมา ค่อนข้าง Challenge มาก ด้วยตัวอาคารที่จะเป็น landmark ในอนาคต แม้จะไม่ใช่อาคารสูง แต่เป็นอาคารที่มีขนาดกว้าง โล่ง และต้องออกแบบโถงกลางให้ปราศจากเสา เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ในตัวอาคารได้หลากหลายรูปแบบ ผนวกกับข้อกำหนดทางกฎหมายที่ห้ามอาคารสูงเกิน 27 เมตรแล้ว ทำให้เราต้องออกแบบให้โครงหลังคาเหล็กนี้มีขนาดที่ไม่ใหญ่มาก แต่สามารถทำช่วงเสาได้กว้างถึง 110 เมตร ด้วยการใช้เหล็กกำลังสูงอย่างเหล็ก SM520” นายวานิช นพนิราพาธ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบคา (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าว