Choui Fong Tea ไร่ชาออร์แกนิกที่สวยและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย กับการกล่าวขานถึงสถาปัตยกรรมที่ถูกตั้งตระง่านอยู่กลางเทือกเขาอย่างไม่รู้สึกขัดเขิน โดยได้ทีมสถาปนิกจาก IDIN Architects เป็นผู้ออกแบบและสร้างเรื่องราวให้พื้นที่แห่งนี้เป็นไร่ชาที่น่าค้นหา ด้วยเส้นสายของสถาปัตยกรรม ทำให้ร้านกาแฟ Choui Fong2 กลายเป็นจุดเช็คอินหรือแลนด์มาร์คสำคัญของเมืองเชียงรายในปัจจุบัน ที่หากไม่ได้แวะเข้าไปอาจเรียกได้ว่ายังไปไม่ถึงเชียงรายก็ว่าได้
ปรับแนวคิดให้เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่าง
กว่าจะเป็น Choui Fong2 ต้องย้อนกลับไปร่วมสิบปีก่อน ที่เจ้าของไร่ฉุยฟงได้ริเริ่มแนวคิดด้วยความต้องการสร้างสิ่งปลูกสร้างบนไร่ผืนนี้ โดยทีมสถาปนิกอย่าง IDIN Architects ก็ได้รับบทบาทอย่างเต็มที่ตั้งแต่การเลือกตำแหน่งของอาคารด้วยตนเองไปจนถึงการออกแบบทางสถาปัตยกรรมจนแล้วเสร็จ ซึ่งหลังจากที่ Choui Fong1 เปิดตัวไปเพียงไม่นาน ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจนเกินคาด เกิดเป็นการต่อยอดอาคารหลังใหม่บนพื้นที่ที่ไม่ใกล้ไม่ไกลไปจากอาคารเดิม และบิดแนวคิดการออกแบบเล็กน้อยเพื่อให้ตัวอาคารสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ร่วมกับการออกแบบ Universal Design ให้รองรับไปถึงผู้คนทุกช่วงวัย อีกทั้งยังได้รับโจทย์เพิ่มเติมจากเจ้าของไร่ที่ต้องการให้อาคารแห่งใหม่ง่ายต่อการบริหารจัดการมากขึ้น สถาปนิกจึงได้ออกแบบตัวอาคารให้อยู่ติดกับโรงงานชา ซึ่งเปิดให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าชมเบื้องหลังการผลิตชาได้ในคราวเดียวกัน
เพิ่มพื้นที่รองรับผ่านการออกแบบเส้นสายอาคารให้ล้อไปกับเนินเขา
เมื่อโจทย์คือการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยของอาคารซึ่งมีขนาดใหญ่ร่วม 1,300 ตารางเมตร สถาปนิกจึงได้เลือกใช้โครงสร้างเหล็ก H-Beam เพื่อให้ตัวอาคารมี Span ที่กว้างตอบโจทย์การเพิ่มพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารและการรองรับผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนได้ดี ขณะที่ยังคิดไปถึงเรื่องของความประทับใจต่อทิวทัศน์ที่นักท่องเที่ยวตั้งใจมาชม ซึ่งการเลือกใช้ H-Beam ยังช่วยให้โครงสร้างเสาของอาคารเล็กลงไม่บดบังทัศนียภาพ และสถาปนิกยังได้ออกแบบให้ตัวอาคารค่อยๆ ล้อและลื่นไหลไปกับเนินเขา เพื่อให้ตำแหน่งการจัดวางโต๊ะมีการเล่นระดับที่แตกต่าง ซึ่งจะทำให้ทุกคนสามารถชมวิวได้อย่างเต็มอิ่มโดยไม่บดบังกัน อีกทั้งโดยปกติของมนุษย์แล้วมักจะชอบนั่งบริเวณขอบของอาคารเสมอ ผู้ออกแบบจึงได้เพิ่มขอบต่างๆ เข้าไปมากขึ้น เพื่อให้ผู้คนสามารถเลือกนั่งได้อย่างอิสระและประทับใจในทุกๆ มุม
ให้ความสำคัญกับมิติของแสงเงาธรรมชาติ
เมื่อธรรมชาติสีเขียวได้รับบทบาทเป็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามโดยรอบ แสงธรรมชาติจึงรับบทเป็นเส้นสายของมิติที่แปลกใหม่ให้กับตัวอาคาร ผ่านหลังคา Skylight ทรงกรวยขนาด 1×1 หรือมีรูปลักษณ์ที่ดูคล้ายกับภูเขาลูกเล็กๆ ล้อไปกับบริบท ด้วยความตั้งใจของสถาปนิกให้ช่องแสงนี้เป็นช่องเปิดที่สามารถปลูกต้นไม้ให้เติบใหญ่ขึ้นไปได้ แต่เจ้าของไร่กลับเป็นกังวลว่าหากฝนตก น้ำก็อาจจะไหลเข้ามายังตัวอาคารและนักท่องเที่ยวก็คงไม่มานั่งยังบริเวรณนี้ ผู้ออกแบบจึงได้ปรับรูปลักษณ์ของกรวย Skylight ด้วยการติดตั้งกระจกเข้าไปเพื่อป้องกันน้ำฝน ขณะเดียวกันแสงก็ยังส่องเข้ามาได้และต้นไม้ก็เติบใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน
เปิดนิด ปิดหน่อย โชว์ผิววัสดุธรรมชาติเพื่อสร้างเสน่ห์ที่ชวนค้นหา
เพราะเส้นสายของแสงผนวกกับเสน่ห์ของพื้นผิววัสดุธรรมชาติ สามารถสร้างความน่าค้นหาให้กับสเปซได้อย่างเหลือเชื่อ ซึ่งสถาปนิกก็ได้เลือกใช้วัสดุธรรมชาติอย่างหินและไม้มาใช้ในงานปิดผิวโครงสร้างเหล็กของอาคาร เพื่อให้กลิ่นอายของธรรมชาติมีความนุ่มนวลขึ้นและแทรกซึมอยู่ในทุกๆ มิติของสเปซ
คุณเป้ – จีรเวช หงสกุล สถาปนิกแห่ง IDIN Architects เล่าว่า “ตลกดีเหมือนกัน ที่รู้ตัวอีกทีแต่ละโครงการของผมก็ใช้โครงสร้างเหล็กไปเยอะแล้ว หลักๆ คงเพราะผมชอบความ Industrial ชอบยุค Modern Architecture และชอบความเบาของเหล็ก แต่ละโครงการที่ใช้โครงสร้างระบบนี้ก็จะมีเสน่ห์ที่แตกต่างกันออกไปตามบริบท อย่าง Choui Fong2 ผมก็มองว่าไม่อยากเข้าไปทำลายธรรมชาติมาก ทั้งฝุ่นหรือการขนย้าย การใช้โครงสร้างเหล็กก็ช่วยตอบโจทย์ส่วนนี้ได้ดี ซึ่งโครงการนี้ก็ได้รับรางวัลอยู่หลายตัวเหมือนกัน เช่น TIDA, DFA, The Plan2020 และรางวัลล่าสุด The Prix Versailles ที่จัดโดย UNESCO and the International Union of Architects (UIA) ซึ่งเป็นรางวัลที่ผมดีใจมากๆ อย่างบอกไม่ถูกเพราะเราไม่ได้เป็นคนส่งเข้าประกวดแต่เขาจะเป็นคนเลือกมอบรางวัลให้เอง ทั้งนี้ปกติงานรับรางวัลจะถูกจัดขึ้นที่ UNESCO ปารีส แต่คงอดไปโดยปริยายจากสถานการณ์ COVID-19”
Architizer A+ Awards (2020)
TIDA Awards 2020
Design for Asia Awards 2020 (DFA)