SIAM YAMATO STEELSIAM YAMATO STEELSIAM YAMATO STEEL

Premium Ice Factory สถาปัตยกรรมโรงน้ำแข็ง ที่กลั่นมาจากความคิดสร้างสรรค์

  • Siam Yamato Steel
  • Project Reference
  • Premium Ice Factory สถาปัตยกรรมโรงน้ำแข็ง ที่กลั่นมาจากความคิดสร้างสรรค์

นอกจากการใช้งานที่ครบครันและเกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว รูปแบบของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ ยังส่งเสริมธุรกิจให้เกิดความชัดเจน รวมถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจให้โดดเด่น น่าสนใจมากยิ่งขึ้นด้วย เรากำลังพูดถึง Premium Ice Factory โรงงานน้ำแห่งสมัยใหม่ ที่ต่างออกไปจาการที่ใครๆรู้จัก

โรงงานแห่งนี้ออกแบบโดย วรัญญู มกราภิรมย์ และ สณทรรศ ศรีสังข์ จาก TA-CHA Design โดยในการออกแบบอาคารหลังนี้ไม่ได้มีฟังก์ชันที่สร้างมาเพื่อการผลิตน้ำแข็งเพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้น พื้นที่ใช้สอยขนาด 3,000 ตารางเมตร ของโรงงานผลิตน้ำแข็ง Premium Ice นี้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ โรงงานผลิตน้ำแข็งบนชั้นที่ 1 สำนักงานของบริษัทบนชั้นที่ 2 และส่วนพักอาศัยบนชั้นที่ 3

สถาปนิกใส่แนวคิดเรื่อง Passive Design มาเป็นแนวคิดตั้งต้นของโครงการ คือการออกแบบลักษณะอาคารแบบปิดล้อม เพราะต้องการควบคุมตัวแปรหลายอย่างเพื่อความสะอาดปลอดภัยในการผลิตน้ำแข็ง แต่ยังคงเปิดช่องให้สามารถนำเอาพลังงานจากธรรมชาติเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ บวกกับการนำวัสดุเดิมที่เจ้าของอาคารมีอยู่กลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด

ที่ด้านหน้าของอาคาร ยังสร้างเอกลักษณ์ของอาคารได้อย่างน่าสนใจ เข้ากับธุรกิจผลิตน้ำแข็งที่สะอาดและได้มาตรฐาน ออกมาเป็นฟาสาดที่ได้แรงบันดาลใจจากเกล็ดหิมะนั่นเอง

ในการออกแบบผิวหุ้มหรือหน้าอาคารภายนอก (façade) และพื้นที่ภายในโรงงานผลิตน้ำแข็ง Premium Ice สณทรรศ บอกกับเราถึงแนวคิดตั้งต้นในการพัฒนารูปทรงของ ‘เกล็ดหิมะ’ กลับมานำเสนอในรูปแบบของการดีไซน์ผิวอาคารบางส่วนว่า “เกล็ดหิมะ จะเป็นรูปทรงหกเหลี่ยมเสมอ เราจึงนำหกเหลี่ยมมาเล่นโดยพูดถึงการย้อนกลับของน้ำแข็ง จากของเหลวเป็นของแข็ง คิดกันเล่นๆ ว่าจะทำของแข็งให้เป็นของเหลวได้ไหม”

ถัดเข้ามาภายในส่วนของโรงงาน เนื่องจากอาคารชั้น 1 เป็นส่วนโรงงานผลิตของบริโภคซึ่งต้องมีลำดับของการผลิตและตำแหน่งการวางเครื่องจักรที่แน่นอน สถาปนิกจึงออกแบบโดยคำนึงถึงความสะอาดของพื้นที่ให้ได้ตามมาตารฐาน GMP (Good Manufacturing Practice Certification) และความปลอดภัยของพนักงานขณะปฏิบัติงานเป็นสำคัญ

ในการออกแบบส่วนใช้สอยของสำนักงานบนชั้น 2 สถาปนิกตั้งต้นจากคำถามที่ว่า “พื้นที่แบบไหนที่เราอยากจะนั่งทำงาน” จนกลายมาเป็นคำถามที่ท้าทายต่ออีกว่า “ออกแบบอย่างไรให้พนักงานเกิดฉันทะ” การแบ่งพื้นที่โดยเว้นคอร์ตกลางอาคาร และการดึงเอาพลังงานจากธรรมชาติเข้ามาสู่ภายในจึงกลายมาเป็นคำตอบของการออกแบบพื้นที่สำนักงานบนชั้น 2 ที่เชื่อมต่อกับส่วนพักอาศัยบนชั้น 3 ในสัดส่วนที่พอเหมาะพอเจาะ

สถาปนิกตั้งใจออกแบบพื้นที่ชั้น 2 ของอาคารให้เกิดการนำแสงธรรมชาติมาใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งมีส่วนช่วยให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเลือกใช้แผ่นมุงหลังคาแบบโปร่งแสงเพื่อปลดปล่อยให้แสงธรรมชาติผ่านลงมาสู่พื้นที่ส่วนกลางและส่วนสำนักงานได้ทั่วถึง อีกทั้งยังปลูกไม้เลื้อยให้ทิ้งตัวลงมาจากชั้น 3 ให้เป็นดั่งม่านต้นไม้สีเขียวชอุ่มที่ช่วยสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้ใช้พื้นที่ นอกจากนี้ในการวางแปลนของอาคารและการเลือกใช้วัสดุหุ้มอาคารอย่างแผ่นเหล็กเจาะรู ยังมีช่องที่ช่วยให้ลมสามารถผ่านเข้ามาเป็นระยะ เพื่อสร้างภาวะน่าสบายเพิ่มมากขึ้นไปในตัว

ส่วนโครงสร้างนั้นเป็นโครงสร้างเหล็กเป็นหลัก เพราะมีความเหมาะสมในการใช้งาน ทั้งการสามารถทำช่วงเสาที่พาดกว้างได้มากโดยไม่มีเสาคั่นกลาง อีกทั้งยังดูเบาลอยสวยงามตามรูปแบบที่ต้องการอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า โรงงาน ไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อหรือจริงจังเสมอไป อย่างโรงงานแห่งนี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การออกแบบที่ดีและคิดถึงผลสุดท้ายอย่างรอบด้าน ทำให้การใช้งานนั้นสมบรณ์และยังเกิดภาวะที่น่าพึงพอใจมากกว่าการเป็นโรงงานที่เข้าถึงยากหลายเท่าตัว

ติดตามข้อมูลโครงการอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.hbeamconnect.com